10 เทคนิค สื่อสารอย่างไรกับลูกวัยทีน

ไลฟ์สไตล์
10 เทคนิค สื่อสารอย่างไรกับลูกวัยทีน

“ทำไมลูกเป็นอย่างนั้น ทำไมลูกเป็นอย่างนี้” นี่เป็นความคิดของพ่อแม่หลายๆ ครอบครัวที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งพยายามแก้ปัญหา ดุด่าว่ากล่าวตักเตือน ก็แล้ว ห้ามก็แล้ว แต่ทำไมสถานการณ์กลับแย่ลงเรื่อย ๆ

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลจาก โครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารผ่าน Platform Online ของผู้ปกครองในครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. 
 
ให้สัมภาษณ์โดย พญ.วิมลรัตน์  วันเพ็ญ  รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข

หากลองย้อนมองกลับไปถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาในครอบครัว และเริ่มทวีคูณขึ้นนั้น อาจจะเป็นเพียงแค่ กระบวนการสื่อสารที่ทำให้เกิดปัญหา อย่าลืมทบทวนดูว่าในขณะที่พูดคุยกับลูก เรามีอารมณ์แบบไหน คำพูดที่พูดออกไปฟังดูเกรี้ยวกราด หรือพูดสิ่งที่ลูกไม่อยากได้ยินหรือไม่ 
 
สถิติของโครงการวิจัยครอบครัวไทยในเขตเมืองปี 2557 ระบุว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวมีสัมพันธภาพน่าเป็นห่วง ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่ง 40% ที่ไม่ค่อยเล่าหรือไม่เล่าอะไรให้คนในครอบครัวฟังเลย ขณะที่ 60% ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ 34% ด่าทอหยาบคาย ทำร้ายจิตใจ ละเลยทอดทิ้ง และ 33% ไม่ค่อยใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังมีการทำร้ายร่างกายถึง 11% อีกด้วย 
 
จากสถิติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นปัญหาในระดับครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญ จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ปกครองในครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น รายการรอลูกเลิกเรียน ที่ สสส.ร่วมกับ บริษัท ทูลมอโร จำกัด มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เพื่อให้ครอบครัวได้ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาการสื่อสารภายในครอบครัว และรู้ถึงวิธีการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
คุณพ่อคุณแม่จะพูดกับลูกสักครั้งต้องคิดแล้วคิดอีก กลัวลูกไม่ฟังบ้าง กลัวลูกต่อต้านบ้าง กลัวลูกน้อยใจบ้าง สารพัดปัญหาที่ประดังเข้ามา ซึ่ง พญ.วิมลรัตน์  วันเพ็ญ  รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำถึงวิธีสื่อสารกับลูกว่า  อยากให้ชมลูกบ้าง ซึ่งบางทีเราอาจรู้สึกว่าการชมลูกอาจทำให้ลูกเหลิง และจะชมลูกต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จแล้วจริงๆ แต่เราไม่ได้ชมในขั้นตอนความรับผิดชอบ ความอดทน ความขยันของเขา ซึ่งแท้จริงเราอยากให้ลูก พยายาม ขยัน รับผิดชอบมากกว่าประสบความสำเร็จอย่างเดียว กับอีกสิ่งคือ อยากให้พ่อแม่บ่นน้อยลง การบ่น คือ พูดมากแต่ใจความมีเพียงน้อยนิด เพราะลูกไม่อยากฟัง ดังนั้นให้บอกไปเลยว่า พฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ต้องการคืออะไร เช่น แม่อยากให้ปิดมือถือนะลูก และต่อด้วยความห่วงใยสั้นๆ ว่า ถ้าดูมือถือเยอะๆ เดี๋ยวสายตาเสีย แค่เพียงเปลี่ยนการคุยกับลูกง่ายๆ เพียง 2 เรื่องนี้ให้ได้ รับรองว่าลูกจะเข้าใจและอยากคุยกับเราเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ทีมเว็บไซต์ สสส. มี 10 เทคนิคการสื่อสาร ที่นำมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารของผู้ปกครองในครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่ เพื่อใช้ในการพูดคุยกับลูกวัยทีน ให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้
 
1. I Message คือ การพูดถ้อยคำออกมาโดยเน้นไปที่ "เรา หรือตัวเองเป็นที่ตั้ง" เน้น กระบวนการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ที่ ผู้รับหรือผู้ฟังความหมายที่สื่อออกมาจากข้อความที่ใช้คำว่า “ฉัน” “จะไม่รู้สึกว่าถูกกล่าวหาหรือตำหนิ”
 
2. คำชม เป้าหมายของการชม คือ ทำให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าและภูมิใจ ในตัวเองชมจากเหตุการณ์จริงในเรื่องที่เหมาะสม ไม่ชมพร่ำเพรื่อ ชมเขาเพื่อให้เขาก้าวหน้าและมีกำลังใจ ไม่เน้นชมผลของการกระทำ แต่ให้ชื่นชมที่ความพยายาม
 
3. การสะท้อนความรู้สึก การสะท้อนความรู้สึก คือ การสะท้อนให้ลูกทราบว่าพ่อแม่เข้าใจความรู้สึกของลูกอย่างไร มีเป้าหมายเพื่อสร้างความความไว้วางใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยทำให้ประเด็นที่อยากสื่อสารชัดเจนขึ้น
 
4. การลงโทษ เป้าหมายของการลงโทษคือการตัดทอนหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูก โดยมีหลักการ เช่น การลงโทษอย่างสมเหตุสมผลและทันท่วงที สัมพันธ์กับปัญหาที่เกิด เอาจริงเอาจัง ไม่ทำให้เสียหน้า ไม่ด่วนสรุป และสื่อสารให้ชัดเจนว่าทำไมเขาถึงถูกลงโทษ รวมถึงหยั่งเสียงว่าตัวเองควรถูกทำโทษอย่างไรจึงจะเหมาะ
 
5. การให้รางวัล นำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีความพยายามรับผิดชอบต่องานตรงหน้า โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยเน้นที่การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเด็กจากผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้ความพยายามของตนเองร่วมกับท่าทีที่ผู้ใหญ่ชื่นชมและเป็นกำลังใจ
 
6. ความคาดหวังของสมาชิกคนอื่นๆ โดยมีหลักการ เช่น ให้ลูกได้ร่วมกำหนดกฎระเบียบเหมาะสมกับวัยและปฏิบัติได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
 
7. การให้คำปรึกษา ที่ถูกต้องเหมาะกันสถานการณ์ เพศ และวัย สามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถวางเป้าหมายในการแก้ปัญหานั้นๆ และคำปรึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้เหมาะสมมากขึ้น อีกทั้งยังลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะการให้คำปรึกษาเปรียบเสมือนการสร้างความเชื่อมั่น ภายในจิตใจทำให้วัยรุ่นเกิดการยอมรับในตัวผู้ปกครอง
 
8. การจัดการกับพฤติกรรมวัยรุ่น เป้าหมายออกกฎระเบียบเท่าที่จำเป็น ถ้าวัยรุ่นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประเด็นผู้ปกครองต้องค่อยๆ แก้ไขไปทีละเรื่อง และควรมองให้ออกว่าปัญหาใดที่ทำให้สมาชิกภายในบ้านเดือดร้อนหรือเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เช่น ถ้าวัยรุ่นถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้บนโต๊ะรับแขกควรแก้ไข แต่ถ้าวัยรุ่นถอดเสื้อผ้าเกลื่อนกลาดในห้องของตนเอง ผู้ปกครองควรปล่อยไว้ เพราะถ้าเราไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัววัยรุ่นเมื่อไหร่เค้าจะค่อยๆ ปิดใจกับผู้ปกครอง จนในที่สุดอาจจะไม่เชื่อฟังผู้ปกครองอีกเลย
 
9. การแสดงความเห็นอกเห็นใจ เป็นการแสดงในเห็นถึงความห่วงใย ความห่วงหาอาทร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องแสดงให้วัยรุ่นได้รับรู้ เพราะเมื่อวัยรุ่นมีปัญหาครอบครัวจะเป็นที่ที่เค้าจะเข้าหาและรู้สึกปลอดภัยที่จะเข้ามาปรึกษากับครอบครัว
 
10. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เลือกคำพูดที่เหมาะสมไม่เป็นคำพูดที่ประชดประชันส่อเสียด
 
คุณพ่อคุณแม่สามารถเอาคำแนะนำของคุณหมอวิมลรัตน์และ 10 เทคนิคการสื่อสาร ไปประยุกต์ใช้กับลูกวัยทีนได้นะคะ แต่หากมีข้อคำถาม ความสงสัยเกี่ยวกับปัญหาหรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น  ลูกติดเกม ลูกติดมือถือ ลูกไม่กล้าแสดงออก  และอีกหลากหลายปัญหา ก็สามารถติดตามการแก้ไขปัญหาและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ รายการรอลูกเลิกเรียน

ขอบคุณข้อมูลจาก