พงษ์สิทธิ์ คำภีร์เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยมีพ่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ในโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้บ้าน พงษ์สิทธิ์เริ่มสนใจดนตรีและกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่วัยเด็ก และภายหลังจากที่เรียนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคารแล้ว พงษ์สิทธิ์ก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น เพื่อสอบเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมันขอนแก่น (ปัจจุบันเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น) แต่กลับต้องผิดหวัง เพราะวันประกาศผลสอบกลับไม่มีชื่อของเขา พงษ์สิทธิ์จึงตัดสินใจสมัครเรียนในโรงเรียนเอกชนชื่อโรงเรียนช่างกลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อไม่ให้เสียเวลาและเป็นการเตรียมพร้อมในการสอบคราวหน้า หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งปี จึงได้เข้าสมัครสอบที่วิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมันขอนแก่นอีกครั้ง และครั้งนี้ พงษ์สิทธิ์ก็ไม่ผิดหวัง ช่วงมาเรียนที่นี้ พงษ์สิทธิ์ได้เข้ามาเป็นนักฟุตบอลของวิทยาลัย รวมทั้งฝึกการเล่นกีตาร์ไปพร้อมกัน ถึงขนาดแต่งเพลงไว้หลายบทเพลงด้วยกัน จนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมเล่นดนตรีกับวงดนตรีรุ่นพี่ในวิทยาลัย ชื่อวง รีไทร์ ในตำแหน่งมือกีตาร์ และนั้นก็เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นของการเป็นนักดนตรีของพงษ์สิทธิ์ (ช่วงนี้ วงรีไทร์ ไดมีโอกาสเล่นเป็นวงเปิดให้กับศิลปินเพื่อชีวิต อย่าง ฅาราวาน และ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ทำให้พงษ์สิทธิ์ ได้มีโอกาสทำความรู้จัก และฅาราวานก็เป็นวงแม่แบบให้กับพงษ์สิทธิ์ตลอดมา)

ภายหลังจากจบการศึกษาในระดับ (ปวช.) แผนกช่างกลโรงงาน พงษ์สิทธิ์ก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยมาพักอยู่กับ ซู - ระพินทร์ พุฒิชาติ และ ปราโมทย์ ม่วงไหมทอง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งต่อมาเป็นสมาชิกวงซูซู ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นนักดนตรีอย่างเต็มตัว โดยมีนักดนตรีที่เคารพนับถือและชื่นชอบอยู่ 2 ท่าน คือ หงา - สุรชัย จันทิมาธร และเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ที่คอยให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ จนในระยะแรกก็ได้มาร่วมงานกับวงฅาราวานโดยเป็นนักดนตรีแบ็คอัพในตำแหน่งมือกีตาร์ และมีโอกาสได้ทัวร์ คอนเสิร์ตสันติภาพในประเทศกัมพูชา รวมทั้งคอนเสิร์ตที่ประทับใจอีกแห่ง คือ ปูวิชยาคาน คอนเสิร์ตนครวัด

จนกระทั่งในที่สุดก็ได้ออกอัลบั้มชุดแรกในปี พ.ศ. 2530 ชื่อชุด ถึงเพื่อน กับบริษัทบัฟฟาโล เฮด ที่มีสมาชิกวงคาราบาวเป็นผู้ดูแล และได้ สุเทพ ปานอำพัน (เอ็ดดี้ ซูซู) มาช่วยอีกแรงหนึ่ง ด้วยงานชุดนี้ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่ก็มีเพลงฮิตอย่าง ถึงเพื่อน, เรียนและงาน ที่ถูกเปิดให้ได้ยินกันบ่อย ๆ ในยุคนั้น



พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี พ.ศ. 2533 จากเพลง ตลอดเวลา ในอัลบั้ม เสือตัวที่ 11 ซึ่งออกกับค่าย รถไฟดนตรี พร้อมทั้งได้ทำเพลงประกอบละคร ตะวันชิงพลบ ซึ่งได้มีโอกาสที่จะนำเพลงดังกล่าวไปบรรจุรวมอยู่ในอัลบั้ม บันทึกการเดินทาง ด้วย แต่ติดอยู่ตรงที่ปัญหาทางด้านลิขสิทธิ์เพลง จึงจำเป็นต้องถอดออกภายหลัง แต่พงษ์สิทธิ์ได้นำเพลง โรงเรียนของหนู มาใส่ไว้แทน และเป็นอัลบั้มที่แฟนเพลงรู้จักมากขึ้นหลังจากออกวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น คิดถึง, โรงเรียนของหนู, เธอ...ผู้เสียสละ, ไทรโศก, แม่ เป็นต้น

พงษ์สิทธิ์มีชื่อเล่นว่า ปู แต่บางครั้งแฟนเพลงจะนิยมเขาว่า คำภีร์ ตามชื่อนามสกุลที่เจ้าตัวเรียกตัวเองในแต่ละอัลบั้ม โดยในปี พ.ศ. 2535 พงษ์สิทธิ์ก็ออกอัลบั้มชุด มาตามสัญญา มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกันคือ สุดใจ, ไถ่เธอคืนมา และ มาตามสัญญา ที่ได้เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ศิลปินรุ่นพี่ที่พงษ์สิทธิ์ชื่นชอบมาร่วมร้องอีกด้วย โดยช่วงปีนั้น พงษ์สิทธิ์ได้รับความนิยมสูงสุด จนได้รับฉายาว่า ตำนานเพลงเพื่อชีวิตรุ่นที่ 3 (ต่อจาก ฅาราวาน และ คาราบาว) หรือ เจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิต

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เป็นนักร้องที่มีโทนเสียงไพเราะ มีลูกคอก้องกังวาล เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นเพลงที่เป็นที่นิยมและรู้จักของแฟนเพลงมาจนถึงปัจจุบัน มักจะเป็นเพลงช้า เนื้อหาซึ้ง ๆ บรรยายถึงความรักหรือความเหงาเป็นต้น ตามรายชื่อดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น และในส่วนของเพลงเร็ว ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ หนุ่มน้อย, ยอดชาย, ทองดีทองเค, นักแสวงหา, ม.ให้อะไร, อีกคนหนึ่ง, บันทึกคนถนน, แรงยังมี เป็นต้น

ปัจจุบัน ด้วยสภาพกระแสดนตรีในประเทศไทยเปลี่ยนไป จึงทำให้ชื่อเสียงและผลงานของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เริ่มสร่างซาความนิยมและกล่าวถึงลง แต่พงษ์สิทธิ์ก็ยังได้ผลิตงานออกมาเป็นระยะ ๆ และผลงานเพลงในสมัยที่ยังโด่งดังสุดขีดก็ยังคงเป็นที่นิยมของกลุ่มแฟนเพลงเพื่อชีวิตอยู่เหมือนเดิม



TTM UPDATE

ดูเพิ่มเติม