ข้ามประตูแม่สอดสู่เมืองเมียวดี ไหว้พระสองแผ่นดิน ยลเสน่ห์งดงาม

กินเที่ยว
ข้ามประตูแม่สอดสู่เมืองเมียวดี ไหว้พระสองแผ่นดิน ยลเสน่ห์งดงาม

มิงกะลาบา.. ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวันนี้คำทักทายเราแปลกไป 'มิงกะลาบา' เป็นคำทักทายภาษาเมียนมาร์ หมายถึง สวัสดี เพราะได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับโครงการ "เปิดประตู AEC เชื่อมไมตรีสองฝั่งเมย" ตอน ไหว้พระสองแผ่นดิน เยือนถิ่นวัฒนธรรมเมืองชายแดน แคว้นพุทธภูมิ ไทย-


มิงกะลาบา อ๊ะ ๆ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวันนี้คำทักทายเราแปลกไปค่ะ ^__^  มิงกะลาบา เป็นคำทักทายภาษาเมียนมาร์ หมายถึง สวัสดี เพราะกระปุกท่องเที่ยวได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับโครงการ "เปิดประตู AEC เชื่อมไมตรีสองฝั่งเมย" ตอน ไหว้พระสองแผ่นดิน เยือนถิ่นวัฒนธรรมเมืองชายแดน แคว้นพุทธภูมิ ไทย-สหภาพเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 10-12 มกราคม 2557 ซึ่งจัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) by นิตยสารโฟโต้เทค เราเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวด้วยกัน ขอบอกเลยว่าทริปนี้ได้ทั้งอิ่มบุญ อิ่มใจ และอิ่มท้องอีกด้วย


แต่ก่อนที่จะท่องเที่ยวในจังหวัดตาก สิ่งหนึ่งที่ควรทำ คือ การสักการะ ศาลสมเด็จพระเจ้าตาก ตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง แต่เดิมศาลนี้ตั้งอยู่ที่วัดดอยเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองตาก ต่อมาใน พ.ศ. 2490 ชาวเมืองตากเห็นว่าศาลเดิมไม่สมพระเกียรติ จึงได้สร้างศาลขึ้นใหม่ ซึ่งศาลนี้สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองไทย โดยมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดใหญ่กว่าองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา จากนั้นเรามุ่งหน้าที่ยังอำเภอแม่สอดกันได้เลย

แม่สอด ดินแดนสุดประจิมที่ริมเมย เปี่ยมเสน่ห์ หลากหลายวัฒนธรรมน่าชมเชย

แม่สอด เป็นอำเภอหนึ่งทางตอนกลางของจังหวัดตาก อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตาก 86 กิโลเมตร จากประวัติความเป็นมามีหลักฐานว่า เมื่อปี พ.ศ. 2404 2405 บริเวณที่ตั้งอำเภอแม่สอดในปัจจุบัน ได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานทำมาหากิจอยู่ เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านพะหน่อแก" ต่อมามีคนไทยจากถิ่นอื่นพากันอพยพลงมาทำมาหากิน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงซึ่งไม่ชอบอยู่ปะปนกับชนเผ่าอื่น ต้องพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น หมู่บ้านแห่งนี้ได้เจริญขึ้นตามลำดับ ต่อมาทางราชการได้ย้ายด่านเก็บภาษีอากรมาอยู่ที่นี่ จนถึงปี พ.ศ. 2441 ทางราชการจึงได้ยกฐานะหมู่บ้านขึ้นเป็นอำเภอ เรียกชื่อว่า "อำเภอแม่สอด" ให้อยู่ในเขตปกครองของมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการมีการปรับปรุงแก้ไขระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค อำเภอแม่สอดจึงได้เปลี่ยนมาขึ้นกับจังหวัดตาก




อำเภอแม่สอด เป็นอำเภอที่มีการค้าระหว่างประเทศไทยกับสหภาพเมียนมาร์ เนื่องจากเป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดน และมีวัดวาอารมต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้ไปสัมผัส ซึ่งเราได้มีโอกาสไปไหว้ ศาลเจ้าพ่อพะวอ มงคลสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแม่สอด ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ ถนนสายตาก-แม่สอด เล่ากันว่า ท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เป็นนายด่านที่ด่านแม่ละเมา เพื่อคอยเฝ้าป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามเขามาถึงเมืองตากได้ และได้ต่อสู้กับพม่าที่รุกรานเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเพื่อปกป้องเอกราชของชาติจนตัวเองต้องเสียชีวิตในสนามรบแห่งนี้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุเพราะเจ้าพ่อพะวอท่านเป็นนักรบ จึงชอบเสียงปืน เพื่อแสดงความเคารพผู้ที่เดินทางผ่านไปมา มักจะสักการะท่านด้วยการบีบแตรรถ ยิงปืน หรือจุดประทัดถวาย


จากนั้นเราไปไหว้พระขอพรที่ วัดแม่ซอดน่าด่าน หรือวัดเงี้ยวหลวง (วัดหลวง) แต่เดิมเป็นที่พักแรมของพ่อต้าชาวไทยใหญ่ ต่อมาได้ตั้งรกรากที่นี่และรวมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา มีพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่ในวิหาร 5 องค์ พระพุทธรูปหินอ่อน 2 องค์ ทองเหลือง 1 องค์ ซึ่งได้มาจากสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งในช่วงวันเข้าพรรษาของทุกปี ทางวัดจะจัดให้มีประเพณีแล้อุปั๊ดตะก่า หรือแห่ข้าวพระพุทธ ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยใหญ่ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี


และไปเยี่ยมชม วัดท่าสายโทรเลข หรือวัดห้วยม่วง บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด ตั้งอยู่ติดชายแดนสหภาพเมียนมาร์ มีแม่น้ำเมยกั้นเขตแดน และมีสายโทรเลขของทางราชการมาจบสุดเขตที่หมู่บ้านนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อวัด ภายในมีมหาเจดีย์จตุราจารย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 สุดงดงาม อีกทั้งยังมีพระอุโบสถหลังใหญ่ตระการตา


ต่อมาเราไปเยือน วัดไทยวัฒนาราม เดิมชื่อวัดแม่ตาวเงี้ยว หรือวัดไทยใหญ่ เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายมหายานของชาวไทยใหญ่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 โดย นายมุ้ง เป็นชาวพม่ารัฐฉาน ที่อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สอด และเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ตาว ใน พ.ศ. 2500 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้เป็นวัดพระพุทธศาสนาสังกัดกรมศาสนา ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธมหามุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุนีอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมัณฑะเลย์ สหภาพเมียนมาร์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดตากศรัทธาเลื่อมใสกันมาก


          นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) ศิลปะพม่าขนาดใหญ่ ความยาม 93 ศอก ประดิษฐานอยู่ในศาลาบริเวณด้านหลังศาลาการเปรียญ แถมเรายังได้มีโอกาสชมศิลปะการแสดงของชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบ ๆ ด้วย แถมที่นี่เรายังได้ชมการแสดงของชนเผ่าต่าง ๆ ด้วย


          ก่อนจะไป วัดมณีไพรสณฑ์ หรือแต่เดิมเรียกว่า วัดมณีไพรสัณฑ์ คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2328 ซึ่งที่วัดนี้โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมบนองค์เจดีย์วิหารสัมพุทเธ โดยมีเจดีย์เล็ก ๆ ล้อมรอบถึง 233 องค์ อีกทั้งด้านในยังมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง 512,028 องค์ และเป็นวัดที่มีพระพุทธโคดมบรมศรีเมืองฉอด (หลวงพ่อโต) ประดิษฐานอยู่

เยือน "เมียวดี" สัมผัสเมืองหน้าด่านสุดชายแดนเมียนม่าร์

หลังจากเที่ยวกันจนจุใจที่ฝั่งประเทศไทยแล้ว ก็ได้เวลาพาเพื่อน ๆ ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เพื่อไปเยือนดินแดนเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์กันบ้าง ด้วยการตะลุยไหว้พระขอพระวัดที่มีเรื่องราวและความงดงาม รวมถึงชมวิถีชีวิตของชาวบ้านกันด้วย



เริ่มกันที่ วัดส่วยมินวุ่น (วัดเจดีย์ทอง) หรือชื่อเต็มว่า "เจดีย์ชเวเมียนโหว่นเซตี้" นับเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเมืองเมียวดี มีอายุเก่าแก่ ภายในประดิษฐานพระมหามุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จุดเด่นจะอยู่ที่องค์เจดีย์สีทองเหลืองอร่าม เป็นศิลปะมอญ-พม่า สร้างบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ 20 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดฉัตรประมาณ 123 ฟุต 3 นิ้ว ชั้นบนสุดซึ่งประดับด้วยฉัตรมียอดเป็นทองคำประดับด้วยอัญมณีนานาชาติ และฐานชั้นแรกขององค์เจดีย์ประกอบด้วยเจดีย์รายขนาดเล็กจำนวน 28 องค์ ทำให้เจดีย์องค์นี้ไม่มีเงาทอดลงบนพื้นดิน บริเวณรอบ ๆ ยังมีพระพุทธรูปประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งแต่ละด้านเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ภายใน พระพุทธรูปแต่ละองค์ล้วนแต่มีพระนามอันเป็นมงคล เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการบูชาเป็นสิริมงคล อีกทั้งด้านนอกจะมีสิงโตทั้ง 4 ด้าน ตามความเชื่อที่ว่าสิงโตเหล่านี้จะทำหน้าที่เฝ้าวัด อีกทั้งบริเวณด้านหลังองค์เจดีย์ยังมีพระพุทธรูปที่สร้างจากหวายสุดงดงามประดิษฐานอยู่ด้วย




จากนั้นเราไปกันที่ วัดมิเจากง (วัดจระเข้) วัดนี้มีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนวัดอื่น ๆ ตรงที่มีรูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่ ความยาวของลำตัวตั้งแต่หัวจรดหางยาวถึง 65 เมตร ทาสีเขียวสดใสทั้งตัว กลางตัวจระเข้ได้สร้างเป็นหอไตรกลางน้ำ (หอไตรดังกล่าวนี้จะมีทางเข้าอยู่ด้านหลัง และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไป) โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ในอดีตมีจระเข้จะเข้ามากินเนื้อพระภิกษุสงฆ์ แต่ท่านแสดงธรรมจนจระเข้เห็นธรรมและเลิกกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับมักจ้องมองไปทางเจดีย์ชเวเมียนโหว่นเซตี้อยู่เสมอจนสิ้นใจ เนื่องจากอยากไปกราบไหว้แต่ไม่สามารถทำได้ ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างจระเข้ตัวนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์ และภายในวัดยังมีหอแสดงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าให้เดินชมกันเพลิน ๆ อ๊ะ ๆ ยังหมดเท่านั้น เพราะที่วัดมีลานกว้างที่บริเวณนั้นจะมีเสาอโศกรูปสิงห์ 4 หัว อยู่บนยอด


ต่อมาเราไปเยี่ยมชม วัดเด้ถั่นเอ่ (วัดอธิษฐาน) เป็นวัดสร้างใหม่ สร้างในปี พ.ศ. 2544 นับเป็นวัดที่ชาวบ้านนิยมไปกราบไหว้ขอพร "พระอธิษฐาน" พระพุทธรูปหลังเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าหากใครได้มาขออธิษฐานพรแล้วจะประสบปรารถนาตามที่อธิษฐาน ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน และความรัก รวมถึงวัดนี้ยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ถึงอำเภอแม่สอดได้อีกด้วยนะ



ก่อนจะไป วัดเจ้าโหล่งจี (วัดก้อนหินใหญ่) เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนลานหินขนาดใหญ่บนเนินเขา ทำให้มองเห็นยอดเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามมาแต่ไกล โดยมีเรื่องเล่ากันมาว่า ในอดีตมีพระพุทธรูปสายธุดงค์ได้มาจำพรรษาอยู่บริเวณวัดนี้ พอตื่นเช้าขึ้นมามีงูเหลือมมาขดอยู่ด้านบนหินที่ท่านจำพรรษาอยู่ ชาวบ้านผ่านมาเห็นจึงเกิดความศรัทธา และนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่จนมรณภาพ อย่างไรก็ตาม คนไทยที่มาเที่ยวเมียวดีนิยมมาไหว้พระธาตุแห่งนี้เพื่อเป็นสิริมงคล หรืออาจจะลองเสี่ยงทายยกหินสีทองลูกกลม ๆ หลักราว 10 กิโลกรัม ที่เป็นของแปลกสำหรับวัดนี้ ซึ่งวิธีเสี่ยงทาย คือ ให้ยกก้อนหินก่อนว่าหนักแต่ไหน จากนั้นให้อธิษฐานแล้วลองยกอีกครั้ง ถ้ารู้สึกว่าเบากว่าครั้งแรกหรือก่อนอธิษฐาน แสดงว่าคำอธิษฐานนั้นจะมีโอกาสเป็นจริง แต่ถ้ารู้สึกว่าหนักกว่าเดิมแสดงว่าคำอธิษฐานนั้นไม่ได้ผล


ปิดท้ายการเยือนจังหวัดเมียวดีกัน ณ ตลาดบุเรงนอง สัมผัสวิถีชีวิตผู้คน เพราะที่นี่ถือเป็นศูนย์รวมสินค้า ทั้งเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมาจากจีนและไทยเรานี่เอง ด้านหน้าตลาดขายสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้าสารพัด ผลไม้ ดอกไม้ ขนมนมเนยต่าง ๆ ส่วนด้านหลังเป็นตลาดสด ขายเนื้อสัตว์และผักนานาชนิด นับว่ามาที่เดียวได้ของครบถ้วนตามต้องการ แหม...แต่ขอแนะนำว่าหากใครได้มีโอกาสมาที่นี่อย่าลืมชิมเครื่องในหมูจิ้มจุ่ม มีทั้งเนื้อหมูและเครื่องในส่วนต่าง ๆ เสียบเป็นไม้เล็ก ๆ ขายในราคา 4 ไม้ 5 บาท วิธีกินง่าย ๆ คือ จิ้มกับน้ำจิ้มสูตรเด็ดสีแดง พร้อมเครื่องเคียงอย่างพริกและกระเทียม หากใครอยากลื่นคอก็ขอน้ำซุปที่จะมาเป็นถ้วยเล็ก ๆ พร้อมช้อนหนึ่งคันจากเจ้าของร้านได้ อืม...อร่อยนักแล

ชวนชิมของอร่อย ๆ ในอำเภอแม่สอด






ขนมจีนขยุ้มป้าน้อย ร้านขนมจีนชื่อดังประจำแม่สอด ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีวิทยุเอเอ็ม ที่ชื่อนี้เพราะจะเสิร์ฟเส้นขนมจีนที่ผ่านการขยุ้มเป็นก้อนเล็ก ๆ พอดีคำมาให้ลูกค้าได้รับประทานง่าย ๆ พร้อมน้ำยากะทิ น้ำเงี้ยว น้ำยาป่า และแกงเขียวหวาน พร้อมผักและเครื่องเคียงนานาชนิด



ขนมเส่งเผ่และฮาละหว่า แม่คำป้อ ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านทุ่ง ซอยถนนประสาทวิถี 11 ซึ่งเป็นขนมหวานโบราณพื้นเมืองของชาวแม่สอด ทั้งนี้ เส่งเผ่ทำจากข้าวเหนียว กะทิ และน้ำตาล มีลักษณะคล้ายกับขนมข้าวเหนียวแดง แต่เส่งเผ่จะราดด้วยกะทิแล้วนำไปอบหน้าจนเกรียม มีรสชาติหวานมัน นุ่มลิ้น เคี้ยวเพลิน ส่วนฮาละหว่าทำจากแป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล มีรสชาติคล้าย ๆ กันคือหวานมันและนุ่ม รับประทานง่ายแต่หารับประทานยาก อีกทั้งที่บ้านแม่คำป้อยังมีขนมพื้นเมืองที่หาชิมได้ยากจำหน่ายด้วย หากใครอยากไปเยี่ยมขนมการทำขนม หรืออยากลองไปชิมก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 055-534-197

ชวนช้อปชิล ๆ เดินเพลิน ๆ ในอำเภอแม่สอด



เยี่ยมชมแหล่งผลิตต้นไม้หยกแม่คำปอย ตั้งอยู่ที่ 228 หมู่ 2 ตำบลท่าสายลวด ซึ่งยอกจากจะได้ชมการสาธิตการทำต้นไม้หยกแล้ว ยังสามารถทำต้นไม้หยกพร้อมนำต้นไม้หยกที่ทำกลับบ้านด้วยความภาคภูมิใจอีกด้วย แต่ถ้าใครไม่อยากทำก็มีต้นไม้หยกสำเร็จรูปจำหน่าย หรือหากใครหาไม่เจอสามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ ร้านป้าคำปอย ตลาดริมเมย ซุ้มที่ 93 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-9859-7818




ตลาดริมเมย ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นเขตชายแดนไทย-พม่า ที่นี่มีสินค้าให้เลือกช้อปหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น เสื้อผ้า ขนม ถั่ว เห็ดหอม กระเพาะปลา เครื่องหนัง ผ้าซาติน งานไม้ และสินค้าต่าง ๆ ให้เลือกซื้อเพียบ


ตลาดอัญมณีแม่สอด หรือตลาดสยาม เป็นตลาดค้าขายอัญมณีมากมาย เช่น หยก พลอย ทับทิม ฯลฯ ให้เลือกซื้อ แต่เราขอแนะนำว่าควรซื้ออัญมณีจากร้านค้าที่มีใบรับประกันเท่านั้นนะจ๊ะ เพราะอาจโดนหลอกได้ ซึ่งที่นี่เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-16.00 น. ใครชื่นชอบเครื่องประดับสวย ๆ งาม ๆ ราคาย่อมเยาห้ามพลาดจ้า




ตลาดสินค้าพื้นเมืองชาวเขาดอยมูเซอ ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 29 และ 36 เปิดทุกวัน เป็นตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาวเขา ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร พืชผลไม้ทางการเกษตรสด ๆ


ทิปส์ท่องเที่ยว
- การเข้าไปภายในวัดสหภาพเมียนมาร์ จะต้องถอดถุงเท้า รองเท้า และเดินเท้าเปล่าตั้งแต่เขตพัทธสีมาเข้าไป หรือจะเตรียมถุงพลาสติกใส่รองเท้าแล้วหิ้วติดตัวไปด้วยก็ได้
- การเข้าไปท่องเที่ยวในจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมาร์ ควรมีไกด์เป็นคนนำเที่ยว
- ขั้นตอนการผ่านแดนแม่สอด-เมียนมาร์ จากตำรวจท่องเที่ยวแม่สอด ดูได้ที่
maesotclub.com

จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของทั้งไทยและสหภาพเมียนมาร์ มีอะไรที่คล้ายคลึงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงให้ทั้ง 2 ประเทศ ไปมาหาสู่กันเสมอ นั่นคือ พระพุทธศาสนา เอาเป็นว่าหากเพื่อน ๆ มีเวลาและโอกาสก็ลองไปสัมผัสกับอำเภอแม่สอด อำเภอเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ และอย่าลืมข้ามไปเยือนจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมาร์ รับรองว่าคุณจะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลเชียวล่ะ

สำหรับใครที่อยากรู้ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก 193 ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 โทรศัพท์ 0 5551 4341-3 และ 0 5551 4344 ในเวลาทำการ 08.30-16.30 น. หรือ
เฟซบุ๊ก TAT TAK

ที่มา :