พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา

กินเที่ยว
พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา

พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา

 


      อยู่ห่างจากเกาะเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร  ประวัติความเป็นมาตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นผู้สร้างพระราชวังแห่งนี้ เนื่องจากบริเวณเกาะบางปะอินเป็นที่ประสูติของพระองค์และเป็นเคหะสถานเดิม ของพระมารดาซึ่งเป็นหญิงชาวบ้านที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพบเมื่อครั้งเสด็จ พระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งแล้วเรือเกิดล่มตรงเกาะบางปะอิน


      พระ เจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นบนเกาะบางปะอินบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดาในปีพ.ศ.2175 พระราชทานชื่อว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นกลางเกาะเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งที่ริมสระน้ำนั้นพระราชทานนามว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์


พระราชวัง บางปะอินได้รับการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายในและมีพลับพลาริมน้ำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับและต้อนรับพระราชอาคันตุกะและพระราชทานเลี้ยง รับรองในโอกาสต่างๆเป็นครั้งคราว พระราชวังบางปะอินแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เขตพระราชฐานชั้นนอกและเขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกใช้เป็นที่สำหรับการออกมหาสมาคมและพระราชพิธีต่างๆ ส่วนเขตพระราชฐานชั้นในใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์


สิ่งที่น่าสนใจในเขตพระราชวังชั้นนอกของพระราชวังบางปะอินมีดังนี้


หอ เหมมณเฑียรเทวราช เป็นปรางค์ศิลาจำลองแบบจากปรางค์ขอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ.2423เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททองกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


พระ ที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงทรงจตุรมุขอยู่กลางสระน้ำ รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างเมื่อพ.ศ.2419 โดยจำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวังที่ กรุงเทพฯและพระราชทานนาม “ไอศวรรย์ทิพยอาสน์” ตามพระที่นั่งองค์แรกซึ่งพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เดิมพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ทั้งองค์ ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเสาและพื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้าง ขึ้น


พระ ที่นั่งวโรภาษพิมาน อยู่ทางตอนเหนือของ “สะพานเสด็จ” รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2419 เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้นใช้เป็นที่ตั้งประทับและท้องพระโรงร่วมกันต่อมาโปรด เกล้าฯให้รื้อสร้างใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่อด้วยอิฐ ทรงวิหารกรีกแบบคอรินเธียรออร์เดอร์ มีมุขตอนหน้า ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางในงานพระราชพิธี และเคยเป็นที่รับรองแขกเมืองหลายครั้ง สิ่งที่น่าชมภายในพระที่นั่งวโรภาษพิมานได้แก่ อาวุธโบราณ ตุ๊กตาหินสลักด้วยฝีมือประณีตและภาพเขียนสีน้ำมันเป็นเรื่องราวภาพชุดพระราช พงศาวดาร อีกทั้งภาพวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา พระอภัยมณี สังข์ทอง และจันทรโครพ ตลอดจนเป็นที่เก็บเครื่องราชบรรณาการต่างๆ


ส่วน เขตพระราชฐานชั้นในเชื่อมต่อกับเขตพระราชฐานชั้นนอกด้วยสะพานที่เชื่อมจาก พระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไลซึ่งเป็นประตูทางเข้าพระราชฐาน สะพานนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีแนวฉากคล้ายบานเกล็ดกั้นกลางตลอดแนวสะพานเพื่อแบ่งเป็นทางเดินของฝ่ายหน้า ด้านหนึ่งและฝ่ายในอีกด้านหนึ่งซึ่งฝ่ายในสามารถมองลอดออกมาโดยตัวเองไม่ถูก แลเห็น


บริเวณพระราชฐานชั้นในประกอบด้วยที่ประทับ พลับพลาและศาลาต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจได้แก


พระ ที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร  อยู่ทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับสระน้ำ เป็นพระที่นั่งเรือนไม้ สองชั้นตามแบบชาเลต์ของสวิส คือมีเฉลียงชั้นบนและชั้นล่าง ทาสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่สลับกัน ภายในประดับตกแต่งด้วยเครื่องเรือนไม้มะฮอกกานีจัดสลับลายทองทับที่สั่งจาก ยุโรปทั้งสิ้น นอกนั้นเป็นสิ่งของหายากในประเทศอันเป็นเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาเขตรอบๆ มีสวนดอกไม้สวยงาม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรได้เกิดเพลิงไหม้ ขณะที่มีการซ่อมแซมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2481 ทำให้พระที่นั่งเสียหายไปกับกองเพลิงหมดสิ้นทั้งองค์คงเหลือแต่หอน้ำลักษณะ คล้ายหอรบของยุโรปเท่านั้น ต่อมาในปีพ.ศ.2531สำนักพระราชวังได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมทุกประการแต่เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นอาคาร คอนกรีตแทน


พระ ที่นั่งเวหาศน์จำรูญ  พระที่นั่งองค์นี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า “เทียน เม่ง เต้ย” (เทียน=เวหา, เม่ง=จำรูญ, เต้ย=พระที่นั่ง) พระยาโชดึกราชเศรษฐี(ฟัก)เป็นนายงานสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวในปีพ.ศ.2432 เพื่อเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับในฤดูหนาว    พระที่นั่งนี้เคยใช้เป็นที่รับรองเจ้านายต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนมีลวดลายแกะสลักงดงามวิจิตรยิ่ง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2424


หอ วิฑูรทัศนา  เป็นพระที่นั่งหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะน้อยในสวนเขตพระราชวังชั้นใน ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรกับพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นพระที่นั่ง 3 ชั้น มีบันไดเวียน เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศบ้านเมืองโดยรอบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2424


อนุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  หรือเรียกเป็นสามัญว่า อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ก่อสร้างด้วยหินอ่อนก่อเป็นแท่ง 6 เหลี่ยม สูง 3 เมตร บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองไว้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ


อนุสาวรีย์พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์และเจ้าฟ้าสามพระองค์หรืออนุสาวรีย์ราชานุสรณ์  ในปีพ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง อีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงสูญเสียพระอัครชายาเธอฯ พระราชโอรส และพระราชธิดาถึง 3 พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสิริราชกุธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 ดังนั้นในปี พ.ศ. 2431 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี


พระราชวัง บางปะอิน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00–17.00 น. (เปิดจำหน่ายบัตร 08.00–15.30 น.) อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก นักเรียน นิสิตนักศึกษา (ในเครื่องแบบ ต้องมีบัตรประจำตัวนักศึกษา) 20 บาท พระภิกษุ สามเณร ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท  สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักพระราชวังบางปะอิน โทร. 0 3526 1044, 0 3526 1549, 0 3526 1673


การเดินทาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นถนนพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์แล้วให้ข้ามสะพานวงแหวนรอบนอกจะมีทางแยกโดยให้เลี้ยวซ้ายประมาณบริเวณกิโลเมตรที่ 35 ไปพระราชวังบางปะอินเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร หรือจะผ่านเข้ามายังตัวเมืองอยุธยาพอมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายโดยผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง ตัวอำเภอบางปะอินพอมาถึงสถานีรถไฟบางปะอินแล้วให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางจนถึงพระราชวังบางปะอิน

รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศกรุงเทพฯ-บางปะอิน ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน สอบถามรายละเอียดโทร. 0 2936 2852-66 สถานีขนส่งอยุธยา โทร.0 3533 5304 หรือ www.transport.co.th

รถไฟ สามารถขึ้นรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมาสถานีรถไฟอำเภอบางปะอิน จากนั้นต่อรถสองแถว รถสามล้อเครื่อง หรือรถจักรยานยนต์ไปยังพระราชวังบางปะอิน สอบถามรายละเอียดโทร. 1690,
0 220 4334, 0 2220 4444 สถานีรถไฟอยุธยา โทร. 0 3524 1520 หรือ www.railway.co.th

 

ที่มา : tiewpakklang